สารเคมีอันตราย เป็นสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หากมีการใช้งาน จัดเก็บ หรือกำจัดอย่างไม่เหมาะสม สารเคมีอันตรายรวมถึงสารกำจัดศัตรูพืช กรด เบส ตัวทำละลาย และสารที่อาจเป็นอันตรายอื่นๆ สามารถพบได้ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และครัวเรือน สิ่งสำคัญคือ ต้องจัดการกับสารเคมีอันตรายด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยที่เหมาะสมเมื่อทำงานกับสารเคมีเหล่านี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ได้ให้ความหายไว่ว่า
“สารเคมีอันตราย” หมายความว่า ธาตุ สารประกอบ หรือสารผสม ตามบัญชีรายชื่อที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปปของเส้นใย ฝุ่น ละออง ไอ หรือฟูม ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน
- มีพิษ กัดกร่อน ระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ การก่อมะเร็ง การเปลี่ยนแปลง ทางพันธุกรรม เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือสุขภาพอนามัย หรือทำให้ถึงแก่ความตาย
- เป็นตัวทำปฏิกิริยาที่รุนแรง เป็นตัวเพิ่มออกซิเจนหรือไวไฟ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้
การแบ่งประเภทของสารเคมีอันตรายตามรูปสัญลักษณ์ GHS
Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemical : GHS คือ ระบบสากลการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกพัฒนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อให้ทั่วโลกมีการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายของสารเคมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งสามารถจำแนกตามกลุ่มความเป็นอันตรายตามรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายได้ 9 กลุ่ม ดังนี้
- วัตถุระเบิด
- สารไวไฟ
- สารออกซิไดส์
- ก๊าซบรรจุภายใต้ความดัน
- สารกัดกร่อน
- พิษเฉียบพลัน
- ระวัง
- อันตรายต่อสุขภาพ
รูปสัญลักษณ์ความเป็นอันตรายจะอยู่บนฉลากของสารเคมีที่ติดอยู่ที่ภาชนะบรรจุ หากมีการแบ่งสารเคมีไปใช้งานต้องติดฉลากและป้ายชี้บ่งให้เรียบร้อย
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีอันตราย
สาเหตุที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายจากสารเคมี อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
- ความผิดพลาดของมนุษย์ เช่น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะจัดการหรือจัดเก็บสารเคมีอันตราย หรือการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่ความปลอดภัย
- ความล้มเหลวของอุปกรณ์ เช่น การรั่วไหลเป็นผลมาจากอุปกรณ์เสื่อมสภาพหรือไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม
- ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือพายุ ทำให้สารเคมีอันตรายรั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม
- อุบัติเหตุจากการขนส่ง เช่น อุบัติเหตุรถบรรทุกน้ำมันพลิกคว่ำ หรือการรั่วไหลจากท่อส่ง ซึ่งอาจส่งผลให้สารเคมีอันตรายถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
- การก่อวินาศกรรมหรือการก่อการร้าย ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งใจปล่อยสารเคมีอันตราย
- การกำจัดสารเคมีอันตรายอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุหรือการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
หากต้องปฏิบัติงานกับสารเคมีอันตรายต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามขั้นตอนที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เพราะสารเคมีอันตรายมีทั้งอันตรายมากและอันตรายน้อย หากได้รับสัมผัสอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
การทำงานกับสารเคมีอันตรายอย่างปลอดภัย
การทำงานกับสารเคมีอันตรายจำเป็นต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัย และต้องควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีอันตราย ต่อไปนี้คือ ข้อกำหนดเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย
- ศึกษาคุณสมบัติของสารเคมีอันตราย รวมถึงการทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของสารเคมี ตลอดจนผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นและการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยสามารถดูข้อมูลได้จาก SDS
- ปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดการและการเก็บรักษาที่เหมาะสม รวมถึงการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น ถุงมือ แว่นครอบตา และจัดเก็บสารเคมีในภาชนะที่เหมาะสมและในพื้นที่ที่กำหนด
- ใช้สารเคมีอันตรายตามคำแนะนำและปฏิบัติตามข้อกำหนดใน SDS อย่างเคร่งครัด
- รักษาพื้นที่ทำงานให้สะอาด และมีการระบายอากาศได้ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการสูดดมสารเคมีอันตราย
- การจัดการในกรณีฉุกเฉิน เช่น สารเคมีหกหรือรั่วไหล รวมถึงการรู้วิธีปิดอุปกรณ์ วิธีการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น ถังดับเพลิง และวิธีอพยพออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย
- ตรวจสอบอุปกรณ์และภาชนะบรรจุเป็นประจำเพื่อดูการสึกหรอหรือความเสียหาย และดำเนินการบำรุงรักษาและซ่อมแซมทันทีหากพบความผิดปกติ
- กำจัดสารเคมีอันตรายอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย
- จัดให้มีการ อบรมสารเคมี ให้กับพนักงานทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี
Safety Data Sheet : SDS คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและอันตรายของสารเคมี ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจัดการ การใช้ และจัดเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย โดยเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีอันตรายนั้น
ซึ่งหากจะต้องทำงานกับสารเคมีจะต้องศึกษาข้อมูลที่อยู่ใน SDS ทั้งหมดให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากอันตรายของสารเคมีได้ รวมถึงมาตรการการจัดการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นด้วย
โดยทั่วไป SDS จะได้รับจากผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ที่จำหน่ายสารเคมีนั้น และควรเก็บไว้ในสถานที่ทำงานเพื่อให้สามารถใช้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ซึ่ง SDS จะต้องถูกนำไปอบรมให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานกับสารเคมีชนิดนั้นด้วย
การจัดการหกรั่วไหล
มาตรการการการจัดการเมื่อสารเคมีหกรั่วไหล มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรืออันตรายต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หากพบว่ามีสารเคมีหกรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- แจ้งเตือนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ให้เข้าพื้นที่และอพยพหากจำเป็น
- ปิดอุปกรณ์หรือหยุดการรั่วไหลหากสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
- หากสารเคมีหกรั่วไหลในปริมาณน้อยและสามารถควบคุมสถานกาณ์ได้ ให้พยายามหยุดหรือควบคุมการหกรั่วไหล โดยต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ครบถ้วนก่อนการเก็บกู้
- หากสารเคมีหกรั่วไหลในปริมาณมากและไม่สามารถควบคุมได้ ให้ออกไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยและขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ปฏิบัติตามขั้นตอนฉุกเฉินที่กำหนดไว้กรณีสารเคมีหกรั่วไหล
- หากได้รับบาดเจ็บหรือสัมผัสกับสารเคมี ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- หากสารเคมีถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ให้รีบหยุดการแพร่กระจาย แล้วรีบเก็บกู้สารเคมีทันทีหากทำได้ หรือแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อ
- รวบรวมสารเคมีและอุปกรณ์เก็บกู้ทั้งหมด เพื่อส่งกำจัดอย่างถูกต้อง
สรุป
ก่อนการทำงานกับสารเคมีอันตราย ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมสารเคมีชนิดนั้นๆ ให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากตัวผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจแล้ว สถานที่ทำงานต้องมีการระบายอากาศที่ดี เพื่อป้องกันอันตรายจากการสูดดมสารเคมีอันตราย รวมถึงต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมใช้งาน เช่น อ่างล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวฉุกเฉิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย (ฉบับที่ 2)
- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย
- กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556