PPE ย่อมาจาก Personal Protective Equipment เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่เพื่อป้องกันผู้ใช้งานจากอันตรายที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เกิด ความปลอดภัยจากในการทำงาน หรือเจ็บป่วย เช่น หมวกนิรภัย แว่นตานิรภัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ที่อุดหู เป็นต้น PPE ถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การก่อสร้าง การผลิต และใช้เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เสมอเมื่อจำเป็นต้องใช้ PPE คือ ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในกฎหมายจะใช้คำว่า อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
1. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง
มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือ PPE เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการออกแบบ การทดสอบ และการใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายในสถานที่ทำงาน ซึ่งมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ได่แก่
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization : ISO)
- มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards : EN)
- มาตรฐานประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards : AS/NZS)
- มาตรฐาน สถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)
- มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards : JIS)
- มาตรฐานสถาบัน ความปลอดภัยและอนามัยในการทํางานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH)
- มาตรฐานสํานักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา(Occupational Safety and Health Administration : OSHA)มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA)
โดยการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตามมาตรฐานดังกล่าว ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดหรือประเภทของงานที่ลูกจ้างปฏิบัติ
2. ประเภทของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล มีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามลักษณะของการใช้งานขึ้นอยู่กับว่าสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายจากอะไรโดยสามารถแบ่งได้เป็น
- อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ ใช้สำหรับป้องกันศีรษะ จากการกระแทก การเจาะทะลุ อันตรายจากไฟฟ้า สารเคมีเหลว เช่น หมวกนิรภัย
- อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา ใช้สำหรับป้องกันใบหน้าและดวงตาจากการกระทบกระแทกของของแข็ง การกระเด็นของสารเคมี อันตรายจากงานเชื่อม เช่น แว่นตานิรภัย แว่นครอบตา กระบังหน้า หน้ากากเชื่อม
- อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับมือและแขน เช่น ถุงมือ ปลอกแขน ซึ่งมีหลายประเภทต้องเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของอันตราย
- อุปกรณ์ป้องกันขาและเท้า ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับขาและเท้า เช่น รองเท้านิรภัย รองเท้ายาง
- อุปกรณ์ป้องกันลำตัว ใช้ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลำตัวจากการกระเด็นของสารเคมี โลหะจากการหลอมเหลว อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจัด อันตรายจากไฟไหม้ เช่น ชุดป้องกันสารเคมี ชุดกันไฟ ชุดทนความร้อน
- อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากแบบมีใส้กรอง SCBA
- อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยิน เช่น Ear Plugs หรือ Ear Muffs
- อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูง เช่น เข็มขัดนิรภัย สายช่วยชีวิต เชือกนิรภัย
นอกจากต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและใช้งานให้ถูกประเภทเมื่อมีการใช้งานแล้วจะต้องทำความสะอาดและเก็บรักษาตามความเหมาะสมเพื่อให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ข้อควรพิจารณาในการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานที่ทำและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาว่าจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ชนิดใด ได้แก่
- ลักษณะของอันตราย : ประเภทของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่จำเป็นต้องสวมใส่ขึ้นอยู่กับลักษณะของอันตรายที่มีอยู่ เช่น หากอันตรายที่เกิดขึ้นคือการรั่วไหลของสารเคมี PPE ที่เหมาะสม ได้แก่ ถุงมือกันสารเคมี แว่นครอบตา หน้ากากสำหรับป้องกันระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
- ระดับการป้องกันที่เหมาะสม : ระดับการป้องกัน ของ PPE แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับระดับของอันตรายที่มีอยู่ เช่น หากอันตรายนั้นเป็นสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูง PPE ที่สวมใส่จะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงตามไปด้วย
- ความพอดีและความสบาย : PPE ต้องมีขนาดที่พอดีและสวมใส่สบาย เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายและผู้สวมใส่ไม่รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวเมื่อสวมใส่
- ความสะดวกในการใช้งาน : PPE ควรใช้งานง่าย เพื่อให้สามารถใส่และถอดได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น
- การบำรุงรักษาและการเปลี่ยน PPE : PPE แต่ละชนิดมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและเปลี่ยนใหม่ตามความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงสามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การฝึกอบรมและคำแนะนำในการใช้งาน : ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ PPE ทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้และการดูแลอุปกรณ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- การเก็บบันทึก : นายจ้างควรเก็บรักษาบันทึกการใช้และการบำรุงรักษา PPE เพื่อเป็นกาควบคุมและติดตามประสิทธิภาพของอุปกรณ์
4. การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามกฎหมาย
การกำหนดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดขึ้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์ การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลนอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้สวมใส่แล้ว ยังเป็นข้อกำหนดของกฎหมาย ที่ได้กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยกำหนดไว้ในหมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแลดล้อมในการทำงาน มีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 22 ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดูแลรักษาอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทำงาน
ในกรณีที่ลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากระบุไว้ในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 แล้ว ข้อกำหนดเกี่ยวกับ PPE ยังกำหนดไว้ในข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554 อีกด้วย
สรุป
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่จัดหาและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ และลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่และดูแลรักษาอุปกรณ์ ซึ่งหากนายจ้างไม่จัดหาและไม่ดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องอบรมให้ความรู้ให้ลูกจ้างสามารถสวมใส่และดูแลรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554